กิจกรรมการดำเนินงาน

ผลการดำเนินงานด้านคุ้มครองสิทธิผู้บริโภค

การดำเนินงานในปี  2561  ยังคงทำหน้าที่เผยแพร่ข้อมูล  ความรู้  แนวคิดในการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภค  และการสร้างความเข้าใจเรื่องสิทธิผู้บริโภค  และรับเรื่องราวร้องทุกข์เกี่ยวกับผู้บริโภคถูกละเมิดสิทธิในทุกด้าน เช่น บริการสาธารณสุข สินค้าและบริการ โทรคมนาคม อาหารและยา  พัฒนาฐานระบบข้อมูล และการจัดการความรู้ รวมทั้งการส่งเสริมการมีส่วนร่วมเครือข่ายและภาคีที่เกี่ยวข้องในการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคเพื่อนำไปสู่การผลักดันเชิงนโยบาย  ในระดับท้องถิ่น ระดับจังหวัดและในระดับชาติ  ซึ่งกระบวนการทำงานที่สำคัญของการทำงาน คือการพัฒนาศักยภาพสร้างแกนนำ  การรับเรื่องร้องเรียน  การเชื่อมและสร้างภาคีความร่วมมือ

 

ผลลัพธ์ที่พึงประสงค์ของการทำงานคุ้มครองสิทธิผู้บริโภค จ.พะเยา

เกิดการประสานความร่วมมือ  องค์กรภาคีเครือข่าย  9  อำเภอ มีความรู้ มีข้อมูลในเรื่องสิทธิผู้บริโภค รวมถึงมีทักษะในการเฝ้าระวัง การให้คำปรึกษา จัดการปัญหา  เรื่องร้องเรียน และส่งต่อข้อมูล  ให้ประชาชนในพื้นที่“รู้สิทธิ ใช้สิทธิ และเข้าถึงสิทธิ” รวมทั้งมีข้อเสนอแนะต่อการทำงานขององค์กร/กลุ่ม/เครือข่ายในการขับเคลื่อนด้านนโยบายที่มีผลกระทบกับผู้บริโภคในระดับพื้นที่และจังหวัด

 

ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น ปี 2561

การส่งเสริมศักยภาพให้กับองค์กรผู้บริโภคที่มีคุณภาพ 

  1. องค์กรผู้บริโภค 15 องค์กร เกิดการกำหนด พันธกิจ ของการทำงานให้เป็นองค์กรที่มีคุณภาพ สามารถเป็นนักจัดการปัญหาผู้บริโภคในการเฝ้าระวัง การแก้ไขปัญหา และสร้างความตื่นตัวให้กับผู้บริโภคในการรู้สิทธิ ใช้สิทธิ และเข้าถึงสิทธินำไปสู่การแก้ไขปัญหาของตนเองไม่ให้ถูกเอาเปรียบและเข้าไปมีบทบาทในกลไกการเฝ้าระวังและคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคในระดับพื้นที่และจังหวัด”  และสามารถพัฒนาองค์กร ( มูลนิธิพะเยาเพื่อการพัฒนา ) สามารถผ่านมาประเมินขั้นพื้นฐานตามเกณฑ์ (ศูนย์วิชาการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ คคส. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) ซึ่งได้คะแนน 42  คะแนน คิดเป็นร้อยละ  100 %  ส่วนองค์กรผู้บริโภคขั้นสูง คะแนน 57  คิดเป็นร้อยละ  100 % กลุ่ม/องค์กรผู้บริโภคในพื้นที่จังหวัดพะเยา  จำนวน  15 องค์กร ผ่านเกณฑ์องค์กรขั้นพื้นฐานและองค์กรขั้นมีสิทธิ

  2. องค์กรผู้บริโภคจังหวัดพะเยาจำนวน 15 องค์กร ได้รับมอบใบประกาศรับรององค์กรผู้บริโภคคุณภาพ จากแผนงานพัฒนาวิชาการและสร้างความเข้มแข็งกลไกคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ ศูนย์วิชาการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ (คคส.) ร่วมกับ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค  ในวันที่ 29 – 30  ตุลาคม  2561

  3. มีแกนนำจำนวน 25 คน  มีทักษะ การใช้ชุดทดสอบสารเบื้องต้น  ทำให้แกนนำหลักได้รู้จักการใช้เครื่องมือและสารเคมีที่สามารถตรวจสอบเบื้องต้นได้ รวมถึงการให้คำปรึกษาหรือแก้ไขปัญหาผู้บริโภคเบื้องต้นและการรับเรื่องร้องเรียนและการแก้ไขปัญหาเรื่องร้องเรียน

  4. แกนนำอย่างน้อง 15 คนได้รับการยอมรับและเข้าไปมีบทบาทในตำบลในการแก้ไขปัญหาผู้บริโภคในระดับตำบล

  5. เครือข่ายองค์กรผู้บริโภคและภาคีได้จัดตั้งเป็นสภาผู้บริโภคจังหวัดพะเยาและมีข้อเสนอต่อหน่วยงานในการแก้ไขปัญหาที่ประกอบไปด้วย

    • การจัดการเสาส่งสัญญาณโทรศัพท์ในพื้นที่

    • การจัดการโฆษณาและการจำหน่ายผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมาย เสนอต่อ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดพะเยา

    • การพัฒนาคุณภาพรถโดยสารและรถนักเรียนปลอดภัย

    • การจัดการด้านการเงินการธนาคารและประกันภัย เสนอต่อ สำนักงาน คปภ.จังหวัดพะเยา

 

การรับเรื่องร้องเรียนและประสานการแก้ไขปัญหา

การดำเนินงานรับเรื่องร้องเรียน พบว่าในช่วงปี  2561 มีเรื่องร้องเรียนรวมจำนวน   153  เรื่องที่ประกอบไปด้วย  ปัญหาการเงินการธนาคาร  บริการสาธารณะบริการสาธารณสุข สินค้าและบริการ โทรคมนาคม ยา  อาหารและเครื่องสำอาง บริการสุขภาพ  โดยที่ผ่านมาปัญหาเรื่องร้องเรียนจะมาจากแกนนำที่อยู่ตามแต่ละอำเภอ แจ้งเรื่องเข้ามาที่ศูนย์ ผ่านทั้งทางช่อง LINE กลุ่มหาเรื่องดี และสภาผู้บริโภค

 

ปัญหาที่ผู้บริโภคร้องเรียนสูงสุดในหมวดนี้คือ บริการสาธารณะ มีเรื่องร้องเรียนมากที่สุดคือ จำนวน  61 เรื่อง  ปัญหาที่พบคือประเด็นของการให้บริการของระบบขนส่งสาธารณะ หากเป็นรถโดยสารขนาดใหญ่จะพบปัญหาเรื่องอุบัติเหตุ การเก็บค่าโดยสารแพงเกินจริง ขับรถหวาดเสียวทำให้เกิดความไม่ปลอดภัย, พูดจาไม่สุภาพตวาดผู้โดยสาร, ทิ้งผู้โดยสารระหว่างทาง รถตู้โดยสาร มีปัญหาด้านการบรรทุกเกินจำนวน  รวมถึงรถรับส่ง-นักเรียนไม่ถูกตามระเบียบที่ขนส่งกำหนด (ไม่ติดป้าย ไม่มีไฟกระพริบ บรรทุกเกิน)

รองลงมาคือ ปัญหา ปัญหาผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่โฆษณาอวดอ้างสรรพคุณเสมือนยารักษาโรค โดยที่ไม่มีการควบคุม หรือกำกับดูแลอย่างทั่วถึง รวมจำนวน  40  เรื่อง เช่น ผลิตภัณฑ์ลดน้ำหนัก เร่งผิวขาว หน้าเด้ง หน้าใส หรือแม้กระทั่งผลิตภัณฑ์ที่เสริมสมรรถภาพทางเพศ รวมถึงการจำหน่ายยาที่ไม่มีฉลาดหรือการขึ้นทะเบียนยา  ซึ่งส่วนมากจะพบในตลาดนัด  ก่อให้เกิดอันตรายแก่ผู้บริโภค รวมถึงพบสิ่งเจือบนในอาหาร รวมถึงการจำหน่ายอาหารหมดอายุแล้วยังนำมาจำหน่ายในห้างร้าน วันที่ผลิต วันหมดอายุ ไม่ชัดเจน ฉลากกำกับไม่เป็นภาษาไทย

ด้านปัญหาบริการสุขภาพคือ  รวมจำนวน  25  เรื่อง จะเป็นในประเด็นมาตรฐานการรักษา, ระบบการส่งต่อ, การใช้สิทธิในกองทุนฉุกเฉิน ที่ยังคงเป็นปัญหาจากความเข้าใจและการตีความที่ไม่ตรงกันระหว่างผู้ใช้บริการกับผู้ให้บริการ ว่าอาการป่วยลักษณะไหนที่เข้าข่ายใช้สิทธิฉุกเฉินได้ ปัญหาคุณภาพการให้บริการของเจ้าหน้าที่โรงพยาบาล

ตามด้วยปัญหาด้านสื่อและโทรคมนาคม จำนวน  13  เรื่อง พบว่ามีลักษณะของการได้รับซิมฟรีแล้วถูกเรียกเก็บเงินภายหลังทั้งที่ไม่ได้เปิดใช้บริการคือปัญหาสูงสุดในขณะนี้ รองลงมาคือปัญหาวันหมด แต่เงินไม่หมด แต่ไม่สามารถใช้งานโทรศัพท์รวมถึงการจัดตั้งเสาส่งสัญญาณโทรศัพท์ในพื้นที่ชุมชนแต่ไม่มีการแจ้งหรือทำประชาคมในพื้นที่  ได้ซึ่งถือว่าเป็นความหละหลวมในการบังคับใช้กฎหมายของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

ด้านสินค้าและบริการ  พบว่า จะเป็นในเรื่องของ การเอารถมาซ่อมและพบว่ารถนั้นไม่สามารถใช้การได้ หรือการผิดข้อตกลงในการซ่อม

ด้านการเงินการธนาคาร  มีเรื่องร้องเรียนมากที่สุดคือ   บริษัทประกันแต่ไม่ยอมจ่ายเงินตามสัญญา เมื่อเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล  และบริษัทประกันยกเลิกกรมธรรม์   รวมถึงไม่ได้ซื้อประกันแต่ถูกเรียกเก็บเงินทางบัตรเครดิต   ไปทำบัตร ATM ของธนาคาร แล้วพนักงานธนาคารขายประกันพ่วง

ด้านอสังหาริมทรัพย์  มีเรื่องร้องเรียนมากที่สุดคือ   ผู้ประกอบการผิดสัญญาผู้ร้องได้ทำสัญญาจะซื้อจะขายกับบริษัท  หรือการทำสัญญาตกลงเช่าซื้อที่ดินบ้านจัดสรร / บ้านในโครงการฯแต่ไม่ดำเนินการใดๆ  และเจ้าของโครงการตึกพาณิชย์แจ้งยกเลิกการขายกับลูกค้าและไม่คืนเงินมัดจำ  รวมถึงการเช่าหอแล้วเจ้าของหอไม่ยอมยืนเงินมัดจำ

การเชื่อมและสร้างภาคีความร่วมมือ

การขับเคลื่อนการดำเนินงานเพื่อขับเคลื่อนนโยบายระดับจังหวัดที่ผ่านมาได้เข้าไปมีบทบาทเป็นคณะกรรมการระดับจังหวัดและภาคเหนือประกอบไปด้วย

  • คณะกรรมการทวงหนี้จังหวัดพะเยา

  • คณะกรรมการอาหารปลอดภัยจังหวัดพะเยา

  • คณะกรรมการเพื่อพัฒนาคุณภาพรถโดยสารสาธารณะและรถนักเรียนจังหวัดพะเยา

  • คณะกรรมการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนจังหวัดพะเยา

  • พี่เลี้ยง สอจร.จังหวัด (แผนงาน “สนับสนุนการป้องกันอุบัติเหตุจราจรในระดับจังหวัด”)

มีการนำเอาสถานการณ์ปัญหาที่พบจากการร้องเรียน ไปนำเสนอและเชื่อมประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด  สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณะภัย  สำนักงานขนส่งจังหวัด  ศึกษาธิการจังหวัด  สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา  สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาพะเยา สำนักงานตำรวจภูธร  ท้องถิ่นจังหวัด  แขวงทางหลวงชนบท   สำนักงานคณะกรรมการการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) บริษัทกลาง  มหาวิทยาลัยพะเยา   เพื่อนำไปสู่การสร้างความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายเพื่อขับเคลื่อนการทำงานเป็นประเด็นการทำงานของจังหวัดที่ประกอบไปด้วย

  • การเฝ้าระวังและการจัดการปัญหายาเร่

  • การสนับสนุนใช้สัญญามาตรฐานกับการเช่ารถโดยสารๆไม่ประจำทาง

  • การไม่ใช้หรือหลีกเลี่ยงรถโดยสาร 2 ชั้นในเส้นทางเสี่ยง

  • นโยบายรถรับส่งนักเรียนปลอดภัยการเข้ามีส่วนร่วมกลไกการขับเคลื่อนผลักดันนโยบายรถโดยสารสาธารณะปลอดภัย

เกิดการรวบรวมรายชื่อกลุ่มองค์กรที่ทำงานผู้บริโภคจังหวัดพะเยาเพื่อประสานการทำงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จำนวน  23 องค์กร เช่น การเป็นทีมเครือข่ายเฝ้าระวังและจัดการปัญหา อาหาร  ยา  ผลิตภัณฑ์สุขภาพ  และมีการนำเอาปัญหาที่พบในพื้นที่ เช่น อาหาร  ยา  ผลิตภัณฑ์สุขภาพ  ปัญหารถนำยามาเร่ขายในพื้นที่ มีการร่วมกับโรงพยาบาลดอกคำใต้ สำนักงานสาธารณสุขอำเภอ ปกครองอำเภอ ตำรวจ แจ้งจับและปรับในพื้นที่และนำเอาปัญหาดังกล่าวมาสู่การกำหนดมาตรเป็นข้อกำหนดการทำงาน “การจัดการปัญหายาเร่ในชุมชน”  โดยมีคำสั่งจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดพะเยา  ประสานไปยัง สำนักงานสาธารณสุขอำเภอ 9 อำเภอ ฝ่ายเภสัชโรงพยาบาลชุมชน 7 แห่งและโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพแต่ละตำบล เพื่อรู้แนวทางและการจัดการปัญหาดังกล่าว

ที่ผ่านมาจังหวัดพะเยาสามารถจัดตั้งกลไกสภาผู้บริโภคระดับจังหวัดที่มีเครือข่ายผู้บริโภคและผู้ได้รับความเสียหายเป็นแกนหลักในการขับเคลื่อนได้สำเร็จตั้งแต่ปลายปี 2559  โดยมีคณะกรรมการรวม 15 คนโดย มีประชุมสภาอย่างน้องทุกสองเดือนเพื่อทบทวนการทำงานตามบทบาทหน้าที่และแผนปฏิบัติการ เป็นตัวแทนของผู้บริโภคในการประสานนโยบาย และดำเนินงาน ร่วมกับท้องถิ่น หน่วยงานรัฐ  และภาคเอกชน  จัดเวทีสาธารณะปีละครั้ง เพื่อนำปัญหาหรือเรื่องร้องเรียนของผู้บริโภคมาเผยแพร่ แลกเปลี่ยนความเห็น พร้อมทั้งข้อเสนอแนะร่วมกัน

  1. ปี 2560 เชิญกลุ่มเครือข่ายภาคประชาชนในพื้นที่อำเภอต่าง ๆ เพื่อมารับฟังปัญหาผู้บริโภค และร่วมกันรับรู้เป้าหมายการทำงานสภาผู้บริโภค และร่วมกันเป็นเครือข่ายผู้บริโภค

  2. ปี 2561 จัดเวที“สานพลังคนพะเยาเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค”  มีคนเข้าร่วม 84  คน มีการคุยในประเด็น นำเสนอสถานการณ์ปัญหาที่คนพะเยาเผชิญ และการผลักดันกฎหมาย “สภาองค์กรผู้บริโภคแห่งชาติ” และระดมความคิดเห็นข้อเสนอต่อการแก้ไขปัญหาผู้บริโภค  การคุยกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อหาความร่วมมือในการคุ้มครองผู้บริโภคจังหวัดพะเยาและยื่นข้อเสนอต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคจังหวัดพะเยา

    • การจัดการเสาส่งสัญญาณโทรศัพท์ในพื้นที่ เสนอต่อ สำนักงาน กสทช.ภาค 3

    • การจัดการโฆษณาและการจำหน่ายผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมาย เสนอต่อ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดพะเยา

    • การจัดการด้านการเงินการธนาคารและประกันภัย เสนอต่อ สำนักงาน คปภ.จังหวัดพะเยา

 

การรณรงค์สร้างความตระหนักรู้ในกลุ่มผู้บริโภค

  • ปรับพฤติกรรมลดบริโภคขนมขบเคี้ยวและเครื่องดื่มผสมน้ำตาลให้ปลอดภัยต่อสุขภาพ

  • งานรณรงค์ ยา อาหาร ผลิตภัณฑ์สุขภาพ

  • การพัฒนารถโดยสารสาธารณะที่ปลอดภัย ภาคเหนือ

สงวนลิขสิทธิ์ © พ.ศ.2566 มูลนิธิพะเยาเพื่อการพัฒนา | Copyright © 2023, All rights reserved. Phayao Development Foundation (PDF), Thailand.