ร่วมลงชื่อ ‘ค้านการควบรวมกิจการธุรกิจโทรคมนาคม ระหว่าง ดีแทค กับ ทรูมูฟ เอช’

 

การรวบรวมรายชื่อนี้ จัดทำโดยสภาองค์กรผู้บริโภคโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเปิดให้สาธารณะเข้าร่วมลงรายชื่อในฐานะผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับ ‘การควบรวมกิจการธุรกิจโทรคมนาคม ระหว่าง ทรูมูฟ เอช กับ ดีแทค’ เพื่อรวบรวมรายชื่อเหล่านี้เสนอต่อ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เนื่องจาก กสทช. มีอำนาจในการอนุญาตการควบรวมกิจการ ระหว่างสองบริษัทดังกล่าว

ข้อมูลเบื้องต้น : ทำไมต้องค้านการควบรวมกิจการธุรกิจโทรคมนาคม ระหว่าง ทรูมูฟ เอช กับ ดีแทค?

 

1) ผู้บริโภคมีทางเลือกน้อยลง ปัจจุบันในตลาดธุรกิจโทรคมนาคมมีผู้ให้บริการรายใหญ่อยู่เพียง 3 บริษัท ที่แข่งขันกันอยู่ ทั้งด้านการพัฒนาบริการใหม่ ๆ การขยายพื้นที่การบริการ รวมไปถึงการแข่งขันด้านราคา ซึ่งถ้าพิจารณาส่วนแบ่งตลาดจากจำนวนเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่มีการใช้งาน ทั้ง 3 บริษัทจะครองธุรกิจในตลาดประมาณร้อยละ 97 แต่หากมีการควบรวมกิจระหว่าง บริษัททรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ทรูมูฟ เอช และบริษัทโทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอม มูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค อาจทำให้สัดส่วนแข่งขันในตลาดเปลี่ยนไป จากที่เคยมี 3 เจ้าเหลือเพียง 2 เจ้าเท่านั้น

 

2) ต้องจ่ายค่าบริการแพงขึ้น โดยจากงานวิจัยพบว่า หากมีการควบรวมกิจการและเหลือผู้ให้บริการโทรคมนาคมรายใหญ่เพียง 2 เจ้า แม้ว่าจะมีการแข่งขันกันตามกลไกตลาด จะส่งผลให้ค่าบริการโทรศัพท์และอินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้น 7 – 10% แต่หากไม่มีการแข่งขันกัน (ตกลงแบ่งสัดส่วนผู้ใช้บริการ) อาจทำให้เราต้องจ่ายค่าบริการเพิ่มขึ้นถึง 66 – 120 % เช่น ค่าเฉลี่ยค่าโทรศัพท์และอินเทอร์เน็ตของคนทั่วไปอยู่ที่ 220 บาท/เดือน หากมีการควบรวมเราจะต้องจ่ายค่าบริการเพิ่มขึ้นเป็น 235 ถึง 480 บาท/เดือน

ทั้งนี้ ปัจจุบันมีผู้ใช้บริการโทรคมนาคม 80 ล้านเลขหมาย นั่นหมายความว่าหากมีการควบรวมจะทำให้เกิดความเสียหายต่อผู้บริโภครวมทั้งสิ้น 1,760 – 20,800 ล้านบาท

 

3) การควบรวมในครั้งนี้ อาจจะ ขัดต่อกฎหมายอย่างน้อย 4 ฉบับ คือ

  • กฎหมายรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560
  • กฎหมายประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2544
  • พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522
  • พ.ร.บ.แข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2560

4) การควบรวมอาจทำให้เกิดอำนาจเหนือตลาด หากการควบรวมของทั้ง 2 บริษัทได้รับการอนุมัติจากหน่วยงานกำกับดูแล และสามารถตั้งบริษัทขึ้นมาใหม่ได้ กิจการภายใต้บริษัทดังกล่าวจะมีส่วนแบ่งตลาดโทรคมนาคมในประเทศไทยถึงร้อยละ 52 ซึ่งค่าดัชนีวัดระดับความมีประสิทธิภาพของการแข่งในตลาด (Herfindahl-Hirschman Index HHI) ที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้ขาดประสิทธิภาพในการแข่งขัน (Failure market) และอาจมีอำนาจเหนือตลาดอย่างมีนัยสำคัญ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่หน่วยงานกำกับดูแลจะต้องมีหลักเกณฑ์ในการพิจารณาที่ชัดเจน และควรคำนึงถึงผลประโยชน์ของผู้บริโภคเป็นหลัก

 

5) การมีอำนาจเหนือตลาด นำไปสู่การผูกขาดโครงสร้างและระบบต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพราะเมื่อผู้ให้บริการายใดรายหนึ่งมีอำนาจเหนือตลาดธุรกิจโทรคมนาคม ก็จะส่งผลให้เกิดการผูกขาดบริการหรือผูกขาดโครงสร้างพื้นฐานอินเทอร์เน็ตทั้งแบบมีสายและแบบไร้สาย ซึ่งทำให้ผู้บริโภคเข้าถึงได้ยากขึ้น อินเทอร์เน็ตจะช้าลง และผู้ใช้บริการทุกกลุ่มจะมีต้นทุนสูงขึ้น นอกจากนี้ การผูกขาดยังทำให้เกิดการผูกขาดทางเศรษฐกิจดิจิทัล เนื่องจากต้นทุนการเข้าถึงข้อมูลที่สูงขึ้น ข้อมูลมีราคาแพง ไม่สามารถเข้าถึงได้ง่าย ส่งผลต่อความสามารถในการแข่งขันด้านเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศไทยอีกด้วย

ที่มา: สภาองค์กรของผู้บริโภค

สงวนลิขสิทธิ์ © พ.ศ.2566 มูลนิธิพะเยาเพื่อการพัฒนา | Copyright © 2023, All rights reserved. Phayao Development Foundation (PDF), Thailand.