สัมมนา “บทเรียนและประสบการณ์การพัฒนารถรับส่งนักเรียนที่ปลอดภัย ภาคเหนือ”

เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2562 มูลนิธิพะเยาเพื่อการพัฒนาร่วมกับเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคภาคเหนือ  จัดการสัมมนา “บทเรียนและประสบการณ์การพัฒนารถรับส่งนักเรียนที่ปลอดภัย ภาคเหนือ” เพื่อนำเสนอ รูปแบบ บทเรียนและประสบการณ์การพัฒนารถรับส่งนักเรียนที่ปลอดภัยภาคเหนือโดยความร่วมมือจากองค์กรภาคีต่างๆ และสร้างการมีส่วนร่วมและการขยายผลการทำงานรถรับส่งนักเรียนที่ปลอดภัยของผู้บริหารสถานศึกษาหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องและองค์กรผู้บริโภค รวมถึงร่วมระดมและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเพื่อการพัฒนานโยบายรถรับส่งนักเรียนปลอดภัย ภาคเหนือ โดยมีผู้เข้าร่วมกว่า 80 คน ณ ห้องปารีส โรงแรมเมอร์เคียว อ.เมือง จ.เชียงใหม่

จากสถานการณ์ความรุนแรงจากอุบัติเหตุทางถนนในประเทศไทยในรอบหลายปีที่ผ่านมา อุบัติเหตุที่เกิดกับรถรับส่งนักเรียน ซึ่งส่วนใหญ่ผู้ประสบเหตุเป็นเด็กและเยาวชน ถือเป็นสถานการณ์ปัญหาสำคัญที่ต้องการความร่วมมือจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะในปี 2559 มีอุบัติเหตุทางถนนที่เกิดกับรถรับส่งนักเรียนที่ส่งผลต่อความปลอดภัยของเด็กนักเรียนและเยาวชนที่ใช้บริการทั่วประเทศมากถึง 24 ครั้ง มีเด็กได้รับบาดเจ็บ 254 คน เสียชีวิต 7 คน อาทิ กรณีรถตู้รับส่งนักเรียนเมืองกาญจนบุรี เฉี่ยวชนรถยนต์ส่วนบุคคล เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2559 มีผู้เสียชีวิต 1 คนและเด็กบาดเจ็บ 19 คน และอุบัติเหตุรถรับส่งนักเรียนเมืองชัยภูมิ เสียหลักพลิกคว่ำบนถนน เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2559 มีเด็กนักเรียนกระเด็นเกลื่อนถนนบาดเจ็บมากกว่า 20 คน เป็นตัน

แม้ว่าสาเหตุการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนของเด็กนักเรียนที่เกี่ยวข้องกับรถรับส่งนักเรียนจะเกิดขึ้นไม่บ่อยนัก เมื่อเทียบกับการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนในรถยนต์ประเภทอื่นๆ แต่เหตุการณ์ความสูญเสียในหลายครั้งของเด็กนักเรียนก็มีสาเหตุการเกิดเหตุขึ้นอย่างซ้ำซาก แต่จากการลงพื้นที่เก็บและรวบรวมข้อมูลการสำรวจคุณภาพการให้บริการของรถรับส่งนักเรียนของอาสาสมัครเครือข่ายผู้บริโภค ภาคเหนือ ในพื้นที่ จ.เชียงใหม่ จ.เชียงราย จ.พะเยา จ.ลำปาง และ จ.พิจิตร พบว่า ปัจจุบันมีการนำรถยนต์ส่วนบุคคล ประเภท รถตู้ และรถกระบะตัดแปลงเพิ่มเติมที่นั่งสองแถว มาใช้รับส่งนักเรียนทั้งในและนอกเขตจังหวัดเป็นจำนวนมาก รถรับส่งนักเรียนส่วนใหญ่เป็นรถไม่มีคุณภาพมาตรฐานตามที่กฎหมายกำหนด และไม่ได้มีการปรับปรุงสภาพตัวรถให้มีความปลอดภัยสำหรับใช้รับส่งนักเรียน รวมถึงเป็นรถรับส่งนักเรียนที่ไม่ได้รับอนุญาต ส่งผลให้เกิดปัญหาที่เกี่ยวกับการให้บริการรถรับส่งนักเรียนต่างๆ อาทิ พนักงานขับรถไม่มีคุณภาพ การขับรถเร็ว ไม่เคารพกฎจราจร บรรทุกเด็กนักเรียนเกินกว่าที่นั่งของรถที่กฎหมายกำหนด ไม่คาดเข็มขัดนิรภัย รวมถึงการไม่จัดทำประกันภัยทั้งภาคบังคับและภาคสมัครใจ ซึ่งส่งผลกระทบต่อความมั่งคงปลอดภัยของเด็กนักเรียนสำหรับการใช้บริการรถรับส่งนักเรียน

จากปัญหาที่เกิดขึ้น ในส่วนของภาคเหนือ มูลนิธิพะเยาเพื่อการพัฒนา เครือข่ายองค์กรผู้บริโภค ภาคเหนือ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เห็นถึงความสำคัญและความจำเป็นในการคุ้มครองสิทธิผู้ใช้บริการรถรับส่งนักเรียนและคุณภาพมาตรฐานปลอดภัยของรถรับส่งนักเรียนในปัจจุบัน เพื่อป้องกันปัญหาและลดการเกิดอุบัติเหตุที่อาจจะเกิดขึ้นได้อีกในอนาคต จึงได้มีการทำงานร่วมกับโรงเรียนระดับมัธยมศึกษาจำนวน 9 โรงเรียนในพื้นที่ จ.พะเยา จ.เชียงราย จ.เชียงใหม่ จ.ลำปาง และ จ.พิจิตร เพื่อพัฒนาความร่วมมือและรูปแบบการพัฒนารถรับส่งนักเรียนที่ปลอดภัยในช่วงปี2560-2561 ที่ผ่านมา ซึ่งได้ผลการดำเนินงานที่น่าสนใจที่สามารถทำให้เกิดรูปแบบการพัฒนารถรับส่งนักเรียนที่ปลอดภัยที่มาจากความร่วมมือของคณะครูและผู้บริหารโรงเรียน กลุ่มผู้ปกครองและนักเรียนแกนนำ กลุ่มผู้ประกอบการและหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ซึ่งในปีนี้ได้มีเป้าหมายที่จะขยายผลการดำเนินงานไปสู่โรงเรียนอื่นๆเพิ่มเติมอีกหลายโรงเรียน จึงเห็นควรจัดสัมมนาเพื่อขยายผล รูปแบบ บทเรียน และประสบการณ์การพัฒนารถรับส่งนักเรียนที่ปลอดภัย ภาคเหนือไปสู่โรงเรียนต่างๆที่มีความสนใจ รวมทั้งเพื่อนำไปสู่การระดมความคิดและแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ในการยกระดับและพัฒนาคุณภาพมาตรฐานรถรับส่งนักเรียน และจัดทำเป็นข้อเสนอการแก้ไขปัญหาไปสู่ระดับนโยบาย เพื่อความปลอดภัยในการใช้บริการรถรับส่งนักเรียนปลอดภัยอย่างแท้จริงต่อไป

สงวนลิขสิทธิ์ © พ.ศ.2566 มูลนิธิพะเยาเพื่อการพัฒนา | Copyright © 2023, All rights reserved. Phayao Development Foundation (PDF), Thailand.