เครือข่ายผู้บริโภคจังหวัดเชียงใหม่ 19 องค์กร ได้รับการรับรองเป็นองค์กรผู้บริโภค พร้อมเดินหน้าทำหน้าที่คุ้มครองและพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค

วันที่ 3 ตุลาคม 2562 เครือข่ายผู้บริโภคจังหวัดเชียงใหม่ 19 องค์กร เข้ารับเอกสาร อกผ.2 ใบรับรองการจดแจ้งองค์กรผู้บริโภค ตามพระราชบัญญัติการจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค พ.ศ. 2562 ณ ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่

ด้วยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ได้กำหนดไว้ในมาตรา 46 ให้ผู้บริโภคมีสิทธิรวมตัวกันตั้งองค์กรผู้บริโภค และองค์กรดังกล่าวมีสิทธิรวมตัวกันจัดตั้งองค์กรที่มีความเป็นอิสระ เพื่อให้เกิดพลังในการคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภค และต่อมาเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2562 ได้มีการลงประกาศราชกิจจานุเบกษา พระราชบัญญัติการจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค พ.ศ. 2562 โดยให้สำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ทำหน้าที่นายทะเบียนกลาง และผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นนายทะเบียนจังหวัด เพื่ออำนวยความสะดวกในการจดแจ้งสถานะองค์กรผู้บริโภค

จากนั้นวันที่ 22 กรกฎาคม 2562 เครือข่ายผู้บริโภคทั่วประเทศได้ยื่นจดแจ้งองค์กรผู้บริโภคผู้บริโภคต่อนายทะเบียนกลาง และนายทะเบียนจังหวัด โดยมีกระบวนการตรวจสอบเอกสาร การทำงานด้านการคุ้มครองผู้บริโภค จนมีประกาศรับรองการจดแจ้งองค์กรผู้บริโภค โดย 19 องค์กรของจังหวัดเชียงใหม่เป็นองค์กรเริ่มแรกของประเทศไทยในการรวมตัวจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค

การมีสภาองค์กรของผู้บริโภค มีประโยชน์หลายอย่างที่จะเกิดขึ้นเพื่อนำไปสู่การคุ้มครองผู้บริโภคให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น อาทิ เมื่อผู้บริโภคมีปัญหาเกี่ยวกับสินค้าและบริการที่ไม่เป็นธรรมสามารถยื่นเรื่องต่อสภาองค์กรของผู้บริโภคได้ เพราะเป็นพื้นที่ของผู้บริโภคที่ช่วยแก้ปัญหา มีหน้าที่ฟ้องคดีแทนผู้บริโภคได้ รวมถึงการไกล่เกลี่ย เจรจา สภาองค์กรของผู้บริโภค คนทำงานเป็นผู้ที่ทำงานเรื่องการคุ้มครองผู้บริโภคโดยตรง ทั้งไม่ใช่หน่วยงานรัฐ พรรคการเมือง และธุรกิจเอกชน จึงเป็นองค์กรที่ทำงานเพื่อผู้บริโภคโดยตรง มีการติดตามเฝ้า ระวังสินค้าและบริการที่ไม่ปลอดภัย สามารถเปิดข้อมูลที่มีผลกระทบต่อผู้บริโภคได้อย่างตรงไปตรงมา เพื่อเป็นการแจ้งเตือนผู้บริโภค นอกจากนี้ยังมีบทบาทในการส่งเสริมองค์กรของผู้บริโภคให้มีความแข็งทั้งในระดับจังหวัดและระดับชาติ เหล่านี้เป็นประโยชน์โดยตรงที่ประชาชนจะได้รับ

ทั้งนี้การกำหนดให้มีการจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภคตามรัฐธรรมนูญ เพื่อเปิดโอกาสให้ภาคประชาชนได้รวมกลุ่มกันอย่างอิสระ ปราศจากการแทรกแซงจากองค์กรภาครัฐและเอกชน ร่วมขับเคลื่อนงานด้านการคุ้มครองผู้บริโภค เช่น ให้ความคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภค เสนอแนะนโยบายเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภคต่อคณะรัฐมนตรีหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการตรวจสอบ ติดตาม เฝ้าระวังสถานการณ์ปัญหาสินค้าและบริการที่อาจกระทบต่อสิทธิของผู้บริโภค ดำเนินคดีเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิของผู้บริโภคตามที่เห็นสมควรหรือเมื่อมีผู้ร้องขอ โดยมีอำนาจฟ้องคดีได้ทั้งคดีแพ่ง คดีอาญา คดีปกครอง และคดีผู้บริโภค ซึ่งหลังจากนี้ผู้บริโภคจะมีองค์กรที่ทำหน้าที่เป็นปากเป็นเสียงและปกป้องสิทธิผู้บริโภคต่อไป

สงวนลิขสิทธิ์ © พ.ศ.2566 มูลนิธิพะเยาเพื่อการพัฒนา | Copyright © 2023, All rights reserved. Phayao Development Foundation (PDF), Thailand.