วิจารณ์ร้อน “แพทยสภา” เปิดช่องอบรมผ่าตัดความงามระยะสั้น ขณะเรื่องร้องเรียนพบ จมูกเน่า หน้าเบี้ยว พุ่ง

 

“หลักสูตรศัลยกรรมเสริมความงามห้องแถว ไม่ใช่หน้าที่แพทยสภา” คือ หัวข้อร้อนในการแถลงข่าวที่ สภาองค์กรของผู้บริโภค ร่วมกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ จัดขึ้นเพื่อคัดค้าน (ร่าง) ข้อบังคับจริยธรรมเสริมสวยของแพทยสภา ซึ่งมีเนื้อหาเน้นการรับรองหลักสูตรเสริมความงามระยะสั้น 3 เดือน และเปิดโอกาสให้มีการอบรมแพทย์ตามหลักสูตรนี้ตามคลินิกเสริมสวยได้

ในขณะเดียวกัน การแถลงข่าวยังสะท้อนภาพมาตรฐานการแพทย์และจริยธรรมด้านเสริมความงามที่ลดลงอย่างเห็นได้ชัด จากจำนวนที่เพิ่มขึ้นของการร้องเรียนของผู้ที่ได้รับเสียหายจากการรับบริการเสริมสวยทางการแพทย์ต่อองค์กร จึงมีความกังวลต่อผลกระทบด้านลบจากการ “อบรมผ่าตัดเสริมสวยระดับห้องแถว” ต่อผู้บริโภค นอกจากนั้น ร่างข้อบังคับฉบับนี้ยังขาดการทำประชาพิจารณ์กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอีกด้วย

“กว่าจะมาเป็นแพทย์หนึ่งคน หรือ การผ่าตัดคนไข้หนึ่งคน จะต้องใช้ระยะเวลาในการเรียนพอสมควรเพื่อให้เกิดความชำนาญ ซึ่งการผ่าตัดต่าง ๆ ก็อาจมีโรคแทรกซ้อน รวมถึงผลข้างเคียงได้ตลอดเวลา แพทย์จึงจำเป็นต้องเรียนรู้พื้นฐานให้แน่นมากเพียงพอ เปรียบเหมือนบ้านที่จะแข็งแรงได้ต้องตอกเสาเข็ม และการตอกเสาเข็มต้องถูกต้องตามหลักวิศวกรรม กระทั่งสร้างความมั่นใจให้ผู้บริโภคได้ว่าการทำหัตถกรรมทั้งหลายมีความปลอดภัย มีคุณภาพ ได้มาตรฐานจริง ๆ ไม่ใช่ว่าอยู่ ๆ ก็มาเป็นหมอผ่าตัดหัวใจเลย” พล.ต.ท.นพ.อรรถพันธ์ พรมณฑารัตน์ นายแพทย์ศัลยกรรม และกรรมการแพทยสมาคม หนึ่งในวิทยากรผู้แถลงข่าว ระบุ

ขณะที่ นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค เปิดเผยว่า ในช่วงที่ผ่านมามีเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับการเข้ารับบริการเสริมความงามกว่า 118 เรื่อง เมื่อลงรายละเอียดจะพบปัญหาสัญญาไม่เป็นธรรม และการได้รับความเสียหายจากการใช้บริการ เช่น การยกกระชับริมฝีปากทำให้ปากเบี้ยว หน้าชา หรือการผ่าตัดหน้าอกแล้วลืมผ้าก็อซทิ้งไว้ คำถาม คือ หากลดมาตรฐานการอบรมลงอีก จะเกิดความเสียหายต่อผู้บริโภคมากขึ้นหรือไม่

ด้าน ผศ.ดร.นพ.สุธี รัตนมงคลกุล คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒน์ ชี้ว่า แพทยสภาควรยุติกิจกรรมใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการฝึกอบรมผ่าตัดระยะสั้นเสริมความงามไว้ก่อน และควรทบทวนความจำเป็นในระบบสาธารณสุขของประเทศไทย ตามความเป็นจริงในปัจจุบันว่าประเทศไทยและประชาชนคนไทยต้องการแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ (เฉพาะทาง) สาขาใดมากน้อยตามลำดับของจำนวนผู้ป่วยจริง นอกจากนี้ ต้องสร้างมาตรฐานคุณภาพการรักษาด้านเสริมความงาม และควรปล่อยหน้าที่การฝึกอบรมแพทย์หลังปริญญาเป็นของราชวิทยาลัยให้ดำเนินการตามมาตรฐานสากล

(อ่านเนื้อหาต่อที่ https://bit.ly/3Q8L0OC)

ที่มา: สภาองค์กรของผู้บริโภค

สงวนลิขสิทธิ์ © พ.ศ.2566 มูลนิธิพะเยาเพื่อการพัฒนา | Copyright © 2023, All rights reserved. Phayao Development Foundation (PDF), Thailand.