ลำปางตะลุย! หน่วยงานประจำจังหวัดเฝ้าระวัง ‘ตู้น้ำดื่มปลอดภัย’ – ปัญหาอาหาร ยา

หน่วยงานประจำจังหวัดลำปาง สภาองค์กรของผู้บริโภค ร่วมมือหน่วยงานในพื้นที่ ขับเคลื่อนประเด็นตู้น้ำดื่มปลอดภัย และเฝ้าระวังปัญหาอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพ ด้านสภาองค์กรของผู้บริโภคระบุ เร่งผลักดันให้เกิดหน่วยประจำจังหวัดครอบคลุมทุกพื้นที่เพื่อยกระดับการคุ้มครองผู้บริโภค

 

เมื่อ 5 เมษายน 2565 สภาองค์กรของผู้บริโภคจังหวัดลำปาง จัดงาน “พลังองค์กรผู้บริโภคลำปาง กับการแก้ไขปัญหาผู้บริโภค” ขึ้นเพื่อพูดคุย แลกเปลี่ยน และรายงานความก้าวหน้าการดำเนินงานคุ้มครองผู้บริโภค การพัฒนาความร่วมมือในการผลักดันนโยบาย รวมถึงการเฝ้าระวังสินค้าและบริการในจังหวัดลำปางร่วมกับหน่วยงานภาครัฐต่าง ๆ ในพื้นที่

 

นายสมศักดิ์ ชมภูบุตร หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค จังหวัดลำปาง ในฐานะหน่วยประจำจังหวัดลำปางของสภาองค์กรของผู้บริโภค กล่าวถึงบทบาทของศูนย์ฯ ว่าทำหน้าที่คุ้มครองและพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภคภายในจังหวัด รวมถึงการพัฒนาและเสนอแนะนโยบายมาตรการคุ้มครองผู้บริโภคทั้ง 8 ด้าน ได้แก่ ด้านการเงินการธนาคาร, ด้านอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพ, ด้านการสื่อสาร โทรคมนาคม และเทคโนโลยีสารสนเทศ, ด้านสินค้าและบริการ, ด้านบริการสุขภาพและสาธารณสุข, ด้านบริการสาธารณะ พลังงาน และสิ่งแวดล้อม, ด้านอสังหาริมทรัพย์และที่อยู่อาศัย และด้านขนส่งและพาหนะ

หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค จังหวัดลำปาง กล่าวว่า ศูนย์ฯ ได้ทำหน้าที่ในการเสนอแนะนโยบาย รวมถึงการสนับสนุนและเฝ้าระวังสินค้าและบริการต่าง ๆ ในพื้นที่ โดยทำความร่วมมือ (MOU) กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 9 แห่ง ในการเฝ้าระวังผลิตภัณฑ์น้ำดื่มที่ปลอดภัยจากตู้หยอดเหรียญ นอกจากนี้ ศูนย์ฯ ยังได้ร่วมมือกับนักวิชาการจาก สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดลำปาง และอาจารย์จากมหาลัยราชภัฏลำปาง ในการสนับสนุนการศึกษาข้อมูลเรื่องน้ำอุปโภคบริโภคของประชาชนใน 4 เทศบาล ทั้งยังทำความร่วมมือกับกลุ่มงานคุ้มครองผู้บริโภค เภสัชสาธารณสุข เกี่ยวกับประเด็นการขยายพื้นที่การดำเนินการเฝ้าระวังอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพ ในพื้นที่ 13 อำเภอ อีกด้วย

สำหรับบทบาทหน้าที่ในการรับเรื่องร้องเรียน นายสมศักดิ์ ระบุว่าในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา นับตั้งแต่ เดือนตุลาคม 2564 ถึงเดือนมีนาคม 2565 ทางศูนย์ฯ ได้รับเรื่องร้องเรียนทั้งหมด 116 เรื่อง โดยเรื่องร้องเรียนส่วนใหญ่เป็นปัญหาเกี่ยวกับด้านอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพ จำนวน 50 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 40.3 ของเรื่องร้องเรียนทั้งหมด รองลงมาเป็นการร้องเรียนด้านบริการสุขภาพและสาธารณสุข 40 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 32.2 และอันดับสามคือด้านการเงินการธนาคาร จำนวน 8 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 6.45

“เราหวังว่าประสบการณ์ทำงานของศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค จังหวัดลำปาง ที่ยาวนานเกือบ 20 ปี จะเป็นทางเลือก และที่พึ่งของผู้บริโภคที่ถูกละเมิดสิทธิ ช่วยคลี่คลายปัญหาได้ อีกทั้งในฐานะหน่วยประจำจังหวัดของสภาองค์กรของผู้บริโภค ก็จะเป็นมิติหนึ่งที่ทำให้สามารถทำงานหลาย ๆ ด้าน และเข้าถึงบริการต่าง ๆ ให้ครอบคลุมมากที่สุด” นายสมศักดิ์กล่าว

 

ด้านนางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค ระบุว่า สภาองค์กรของผู้บริโภค และหน่วยประจำจังหวัดต่างๆ กำลังพยายามยกระดับสมาชิกสภาฯ ให้เกิดหน่วยประจำจังหวัดขึ้นในจังหวัดอื่น ๆ เพื่อจะสามารถรับเรื่องร้องเรียนและแก้ปัญหาให้กับผู้บริโภคได้ครอบคลุมทุกพื้นที่ทั่วประเทศ

 

ทั้งนี้ ปัจจุบันสภาองค์กรของผู้บริโภคมีหน่วยประจำจังหวัดทั้งหมด 12 หน่วยทั่วประเทศ สำหรับในภาคเหนือมีหน่วยงานประจำจังหวัด 2 หน่วย ได้แก่ จังหวัดลำปาง และจังหวัดลำพูน ซึ่งทำงานร่วมกับเครือข่ายองค์กรสมาชิกของสภาองค์กรของผู้บริโภคและองค์กรผู้บริโภคในพื้นที่ ช่วยกันขับเคลื่อนประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองผู้บริโภค เพื่อเป็นที่พึ่งของผู้บริโภค และสามารถแก้ไขปัญหาในระดับจังหวัดได้

ที่มา: สภาองค์กรของผู้บริโภค

 

สงวนลิขสิทธิ์ © พ.ศ.2566 มูลนิธิพะเยาเพื่อการพัฒนา | Copyright © 2023, All rights reserved. Phayao Development Foundation (PDF), Thailand.